วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

Article Creative Art Provision for Early Childhood

Article Creative Art Provision for Early Childhood


บทความเรื่อง : สอนอ่านจากงานศิลปะ (Teaching children to read through the art)
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุบผา  เรืองรอง 
             อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ที่มา : www.taamkru.com 

      การสอนอ่านจากงานศิลปะ (Teaching children to read through the art) หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ใช้ภา ษาเป็นสื่อกลาง ถ่ายทอดไปสู่คนอื่นเช่นเดียวกับการพูด ผ่านงานศิลปะที่เด็กสร้างสรรค์ขึ้น จากการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือกิจกรรมศิลปะที่จัดขึ้นโดยให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 ได้แก่ การวาดภาพ ระ บายสี การพิมพ์สี การทับสี การปั้น การประดิษฐ์ การฉีก พับ ตัดปะกระดาษ กิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นในห้องเรียนวันละ 2 - 3 กิจกรรม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก ฝึกความสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตา และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จึงมีกระบวนการที่ส่งเสริมให้เด็กสะท้อนความคิดของตนด้วยการเล่าเรื่องราวจากผลงานที่ตนเองสร้างสรรค์ โดยครูจะช่วยบันทึกเรื่องราวเป็นข้อความที่มีคุณค่าอย่างยิ่งที่นำมาส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก


การสอนอ่านจากงานศิลปะมีความสำคัญอย่างไร?

       การที่เด็กมีโอกาสแสดงออกเมื่อได้สร้างสรรค์งาน เด็กจะเกิดความรู้สึกอิสระ เกิดความรู้สึกชื่นชมและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่แสดงการยอมรับผลงานที่เด็กสร้างสรรค์ เด็กจะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่มีความหมาย เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆอีกมากมาย รวมทั้งการสื่อสารความคิดในรูปแบบการบอกเล่า การขีดเขียน หรือการอ่าน เมื่อเด็กมีความสุขและสนุกสนานที่ได้สร้างสรรค์งาน เขาจะรู้สึกผ่อนคลาย ลดความอึดอัด และความก้าวร้าวลงได้ บรรยากาศเช่นนั้นจัดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ผู้ใหญ่จะเร้าใจหรือจูงใจให้เด็กสนใจการอ่านผลงานที่เขาสร้างสรรค์เอง เราจะสังเกตได้ว่าตามธรรมชาติของเด็ก เขาต้องการการสื่อสารอยู่แล้ว เพราะการสื่อสารเป็นการสร้างสังคมให้เขา สิ่งสำคัญเมื่อเด็กเห็นผลงานศิลปะที่ตนสร้างเช่น งานปั้น งานพับกระดาษ งานวาดภาพ ฯลฯ จะเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเป็นการฝึกใช้สายตาให้แก่เด็ก เมื่อผู้ใหญ่สร้างกระ บวนการบันทึกคำบอกเล่าของเด็กเป็นตัวหนังสือ เด็กจะตระหนักได้ว่า คำที่ปรากฏในภาษาเขียนมีความหมาย และภาษาเขียนสามารถบอกความหมายได้เช่นเดียวกับภาษาพูด ภาษาพูดใช้เสียง ภาษาเขียนใช้ตัวอักษร ทั้งสองประการนี้เป็นภาษาที่มีความหมายจากแหล่งเดียวกัน

การสอนอ่านจากงานศิลปะมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?

⭐ เด็กจะมีความรู้สึกอิสระในการเรียนรู้จะมีความสนใจในการเรียนยาวนาน เพราะการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กได้มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อเล็ก ตามความสนใจของแต่ละคนอย่างเต็มที่ และเมื่อให้เด็กได้บอกเล่าเรื่องราวจากผลงานของตน เอง เด็กได้โอกาสที่จะสื่อสารในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ของตนเอง อยู่ในวิสัยที่เด็กทำได้ และทำซ้ำๆได้อีก การปฏิบัติดัง กล่าวสอดคล้องกับลักษณะของการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) 
⭐ เด็กจะมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน จะก่อให้เกิดความพยายามที่จะเรียนการอ่านสืบต่อไป 
⭐ เด็กมีความพอใจและสนใจที่จะสร้างเสริมประสบการณ์สิ่งต่างๆที่ได้พบเห็น รวมเข้ากับความรู้สึกภายในใจที่จะอ่านอย่างมีความหมาย 
⭐ เด็กจะได้พัฒนาบุคลิกภาพที่จะเป็นผู้ใฝ่รู้และกระตือรือร้นอยู่เป็นนิจ 
⭐ เด็กจะเป็นคนช่างสังเกต มองเห็นลักษณะความแปลกหรือความแตกต่างกันง่าย อันจะเป็นพื้นฐานของการจำแนกตัวหนังสือที่แตกต่างกันได้ ทำให้การอ่านตัวหนังสือเป็นงานง่ายสำหรับเด็ก 
⭐ เด็กจะเป็นคนที่สนุกสนานในการใช้ความคิด 
⭐ เด็กจะตระหนักถึงความสามารถแห่งตน เพราะเด็กได้เห็นความสำเร็จในการทำงานที่เกิดขึ้นจากงานศิลปะและการนำงานมาอ่าน

ครูสอนอ่านจากงานศิลปะให้ลูกอย่างไร?
       การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นบทบาทหน้าที่ของครูปฐมวัย จัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมหลักทั้งหก กิจกรรม กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูจัดให้แก่เด็กปฐมวัย ได้แก่
 การวาดภาพระบายสี เป็นการสร้างภาพทางจิตรกรรม หรือภาพ 2 มิติที่เด็กเขียนลงไปด้วยความรู้สึกในตัวเอง ให้เป็นสัญลักษณ์ แบบ ลวดลาย และมีสีสันต่างๆ แทนการพูด งานที่เด็กควรได้สร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพด้วยสีน้ำ พู่กัน วาดรูป และระบายสีเทียน (Crayon) ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายหลักคือการพัฒนาการทำงานประสาทสัมผัสกับกล้ามเนื้อ ให้เด็กรู้ จักการทำงานด้วยมือและการใช้นิ้วมือ ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกทางความรู้สึก และผ่อนคลายอารมณ์ของเด็ก กิจกรรมที่ครูจัดให้แก่เด็ก เช่น วาดรูปและระบายสีตามใจชอบ วาดภาพจากเรื่องที่ศึกษาค้นคว้ามา (จากหน่วยการเรียนในแต่ละสัปดาห์ เช่น หน่วย ฝนจ๋า เด็กมีประสบการณ์เรื่อง อุปกรณ์กันฝน เรื่องสัตว์ในฤดูฝน ฯลฯ งานวาดภาพที่เกี่ยวข้องอาจจะเป็นร่ม ภาพฝนตก ภาพกบ ฯลฯ) วาดภาพจากเสียงเพลง วาดภาพจากจินตนาการ วาดภาพด้วยนิ้วมือ วาดภาพจากการฟังนิทาน หรือให้เด็กเล่นสี เช่นทับสี เทสี เป่าสี ละเลงสีด้วยนิ้วมือ (Finger Paint) 
 การฉีก ตัด ปะ กระดาษ เป็นการนำกระดาษต่างๆ เช่น กระดาษมันปู กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษโปสเตอร์สีอย่างบาง ฯลฯ มาตัด และติดบนกระดาษให้เกิดเป็นภาพ จุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้คือ การสร้างและการควบคุมกล้ามเนื้อมือในการบังคับเวลาตัดกระดาษหรือฉีก การสร้างความสัมพันธ์มือและตา และการพัฒนาการใช้กรรไกร และการควบคุมทิศทางการฉีกกระดาษ กิจกรรมที่ควรส่งเสริมเด็ก เช่น ฉีกกระดาษเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาซ้อนเรียงกัน ฉีกกระดาษเป็นชิ้นเล็ก ๆ และปะติดบนภาพที่กำหนดขอบเขตไว้เป็นรูปร่างต่างๆ ฉีกกระดาษเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ฯลฯ ปะติดให้เป็นรูปร่างต่างๆ หรือนำมาประติดให้เป็นรูปตามคำสั่ง เป็นต้น 
 การปั้น เป็นการที่เด็กๆใช้วัสดุหลากหลาย เช่น ดินเหนียว แป้งโด ดินน้ำมัน ฯลฯ ปั้น คลึง บดให้แบนเป็นแผ่น หรือเป็นเส้น ปั้นให้เป็นเรื่องราวต่างๆตามเรื่องเล่าหรือตามจินตนาการ ปั้นตามประสบการณ์ที่ได้รับ เช่น ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ปั้นเป็นขนมบัวลอย ขนมโค ขนมหัวล้าน ซาลาเปา ฯลฯ งานปั้นของเด็กจำเป็นต้องมีวัสดุประกอบบ้าง เช่น ไม้คลึงแป้ง แม่พิมพ์กดรูปต่างๆ เป็นต้น การพิมพ์ ครูจัดให้พิมพ์หลายวิธี เช่น พิมพ์ภาพจากนิ้วมือ พิมพ์ภาพจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ก้านกล้วย ก้านบัว ใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ พิมพ์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ฝาขวด ปลอกปากกา ฯลฯ พิมพ์ภาพจากเชือกหรือด้าย โดยนำเชือกมาจุ่มสีให้เหลือชายเชือกด้านหนึ่งไว้ออกมานอกกระดาษ เหลือชายพอดึงได้ แล้วพับกระดาษ ด้านซ้ายมือทับขดเชือกไว้ ค่อยๆดึงเชือกออกมาทางด้านล่างสุด จะได้ภาพออกมาเหมือนกัน 2 ภาพ เช่นเดียวกับการทับสี พิมพ์ภาพจากแม่พิมพ์ที่ครูแกะสลัก เช่น แกะสลัดจากมันเทศ จากมะละกอ ฯลฯ พิมพ์ภาพจากตรายาง และระบายสี เด็กใช้กระดาษวางทับวัสดุที่นูนแล้วใช้ดินสอดำ หรือดินสอสีถู เช่น การถูบนเปลือกไม้ เหรียญบาท ฯลฯ 
 งานตัดกระดาษ งานพับกระดาษ ทั้งสองงานเป็นกิจกรรมที่เด็กสร้างสรรค์งานศิลปะในลักษณะ 3 มิติ อย่างหนึ่ง งานตัดกระดาษเด็กจะได้ใช้กรรไกรเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก และใช้ฝึกประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา การตัด ได้แก่ การตัดกระดาษที่พับเป็นชั้นๆก่อนตัด และตัดภาพตามรอยที่มีอยู่แล้วนำไปปะติดบนกระดาษอีกแผ่น อาจจะติดภาพเดียวหรือสร้างภาพใหม่จากงานที่ตัดหลายๆแผ่นนำมาจัดใหม่ เช่นเดียวกับงานพับกระดาษที่จะอาศัยการทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อตา มือ และนิ้วมือ 
งานพับกระดาษให้เป็นภาพสัญลักษณ์ที่มีการกำหนดขั้นตอน พับจากง่ายไปหายาก ครูจะมีแผน ภูมิลำดับขั้นตอนการพับปฏิบัติให้นักเรียนทดลองพับด้วยตนเอง โดยเป็นงานพับที่ไม่ยากเกินความสามารถของเด็ก ครูอาจ จะให้เด็กระบายสีแต่งเติมผลงานของตนเองได้ 
 งานประดิษฐ์ เป็นการรวบรวมเศษวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษห่อของขวัญ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร กล่อง ฝาขวด ไหมพรม ก้านไม้ หลอดกาแฟ ไม้ไอศกรีม ฯลฯ นำมาประกอบและตกแต่งเป็นของเล่น ของใช้ เมื่อเด็กเรียนรู้จากหน่วยการสอน ประสบการณ์ที่เด็กได้รับจะนำมาคิดและสร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น จากหน่วยการสอนเรื่อง คมนาคม เด็กรู้ จักเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ ฯลฯ เด็กอาจนำกล่องมาต่อกัน ประกอบให้สมบูรณ์ด้วยฝาขวดน้ำ เป็นรถยนต์
          เด็กปฐมวัยเป็นวัยกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่เสมอ ครูจึงจัดกระบวนการสอนอ่านจากงานศิลปะเด็กให้สอดคล้องตามธรรมชาติของเด็ก ตามขั้นตอนต่อไปนี้
 ขั้นสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่เด็ก ครูให้โอกาสเด็กได้พินิจพิเคราะห์สิ่งเหล่านั้นอย่างละเอียด รอบคอบ สัมผัสผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า อย่างเหมาะสม เช่น การใช้มือสัมผัสสิ่งนั้น การฟังเสียงจริง การดมกลิ่นจริง เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างถูกต้อง สำหรับครูปฐมวัยจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ ซึ่งกำ หนดเป็นหน่วยการสอนและเรื่องต่างๆ เช่น ของเล่นแสนสนุก บ้านของฉัน คุณแม่แสนดี คุณพ่อคนเก่ง เพื่อนของเรา ป.ปลาตากลม ฯ
 ขั้นสร้างสรรค์งานตามกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูจัดให้ครอบคลุมตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 แนะนำไว้ โดยเด็กได้ปฏิบัติอย่างอิสระ
 ขั้นเล่าเรื่องจากงานศิลปะ เป็นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ครูบันทึกคำพูดของเด็ก เขียนด้วยลายมืออ่านง่ายให้เด็กเห็น
 ขั้นอ่านให้ฟัง ด้วยบรรยากาศของความสุข ให้เด็กเห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องน่าสนุก เด็กจะเห็นได้ว่าการอ่านกับการพูดเป็นการสื่อสารที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือ การคิด เมื่อเด็กฟังและเริ่มแยกแยะเสียงได้ เด็กจะเริ่มจดจำแบบแผนของคำง่าย ๆ ได้จากการเห็นด้วยตา โดยไม่ต้องสะกดว่าอ่านอย่างไร
 ขั้นอ่านออกเสียงเอง การที่เด็กอ่านงานที่เขาสร้างสรรค์เอง เขาจะเข้าใจ เกิดแรงจูงใจที่อยากอ่าน เป็นการอ่านที่เต็มใจจะอ่าน เด็กจะรู้ว่าข้อความที่ปรากฏในงานของเขานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นตัวอักษรที่เรียงกันบอกเรื่องราวที่น่าสนใจ

กระบวนการสอนอ่านจากงานศิลปะเป็นกิจกรรมที่ครูจัดได้ทุกวัน 
ความก้าวหน้าในการอ่านของเด็กแต่ละคนจะไม่เท่ากัน 
เป็นหน้าที่ของครูที่จะบันทึกข้อมูลของเด็กไว้ในแผนการพัฒนาเด็ก



การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและนำไปสู่การอ่านนั้น 
ครูควรให้ความสำคัญของเด็ก เรื่อง ความคิด คำ พูด และการแสดงออก 
โดยการยอมรับในความคิดของเด็กว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ฟังเด็กพูด และสนับสนุนให้เขาคิด
เพราะการสนับสนุนของผู้ใหญ่จะเป็นกำลังใจให้เด็กสร้างสรรค์งานพร้อมที่จะถ่ายทอด
จินตนาการให้ทุกคนรับรู้ได้ และนำไปสู่การจัดประสบการณ์การอ่านอย่างต่อเนื่อง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น